วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน



ความหมายของชุมชน” (Community)
ชุมชนเป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ   อาจเป็นหมู่บ้าน ละแวก หรือย่าน ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน มีความเชื่อในระบบคุณค่าบางอย่างสอดคล้องกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีความเอื้ออาทร มีการจัดการ มีการเรียนรู้และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน   หรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมา จากการประกอบอาชีพร่วมกัน   หรือ การประกอบกิจกรรมร่วมกัน   หรือ การมีวัฒนธรรม   หรือ ความสนใจร่วมกัน
ความหมายของการพัฒนา” (Development)
 
การพัฒนาคือ การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ   การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้

ความหมายของการพัฒนาชุมชน” (Community Development) 
การพัฒนาชุมชนเป็นการทำให้กลุ่มคนดีขึ้น เจริญขึ้น ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน

เป้าหมายของการพัฒนาชุมชน คือคน ซึ่งเป็นกลุ่มอันหลากหลาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ   เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชนเมือง เป้นกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มกิจกรรม ฯลฯ   กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ   เราเห็นพ้องกันว่าการพัฒนาคน เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง   การพัฒนาคนจึงเป็นเป้าหมายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐๒๕๔๔) และต่อใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๔๕๒๕๔๙)   รากฐานของประเทศดีขึ้น เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้าน   ประเทศชาติก็ดีขึ้น เจริญขึ้น เป็นสังคมพัฒนา   สังคมพัฒนาดี สมาชิกในสังคมย่อมได้รับผลพวงของการพัฒนา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน   การเล็งเป้าการพัฒนาไปที่คน ก็คือการเล็งเป้าไปที่ชุมชน จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องพัฒนาคนเองด้วย เหมือนตนเองเป็นชุมชนหนึ่ง   องค์กรทั้งหลายก็ต้องพัฒนาตนเองเช่นเดียวกัน เพราะองค์กรก็มีความเป็นชุมชนด้วย   ถ้าเราจินตนาการว่าคนเหมือนเซล (cell) ของประเทศ (ร่างกาย)   เซลทุกเซลได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดี ทำให้พัฒนา   ประเทศชาติหรือสังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร ลองจินตนาการต่อไป   เพราะฉะนั้น เป้าหมายของประเทศ หรือสังคม จึงต้องพัฒนาคนหรือชุมชน 








การบริการสาธารณะคืออะไร
        เป็นกิจกรรมที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งมีทางเลือกหลายทางไม่ใช่เพียงการออกกฎระเบียบหรือให้งบประมาณไปดำเนินการ แต่เป็นบริการเพื่อคนจำนวนมาก เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน
        ภาครัฐมีการให้บริการแก่ประชาชนทั้งที่เป็นรายบุคคลและทั้งชุมชน โดยรัฐบาลกลาง ให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ท้องถิ่นให้บริการเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นของตน
        คุณภาพของการบริการเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรรัฐจึงจะประกันได้ว่าประชาชนได้รับบริการที่ดี การเน้นที่คุณภาพจะมีความหมายมากกว่าการเน้นปริมาณ การดำเนินการศึกษาความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับการบริการนั้น เพราะประชาชนถือว่าพวกเขามีส่วนในการบริการนั้น มิใช่เพียงผู้รับบริการฝ่ายเดียว
        มีวิธีการมากมายที่นำมาสู่การปรับปรุงการให้บริการสาธารณะโดยเน้นที่การบริการที่มีคุณภาพในรูปแบบของความคุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปมุ่งที่ประสิทธิภาพของการบริการกับเรื่องของการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและการมีทางเลือกให้กับประชาชนที่เป็นลูกค้าของการให้บริการสาธารณะนั้น ๆ เพราะการบริการสาธารณะเป็นการทำงานของรัฐที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยเฉพาะเป็นการไม่มุ่งหวังกำไรแต่อย่างใด
        หลักการในการดำเนินการยกระดับการให้บริการสาธารณะให้เกิดผล
        ในการดำเนินการยกระดับการให้บริการสาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ดำเนินการต้องยึดหลักการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จ คือ
  • การผูกมัดที่จะทำและกำหนดไว้เป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงาน
  • ความชัดเจน ความเข้าใจตรงกันในวัตถุประสงค์เป้าหมาย
  • การเข้าถึงเพื่อแน่ใจว่าคนพื้นฐานต่างกัน สามารถเข้าถึงกิจกรรมนี้ได้
  • เคารพซึ่งกันและกัน และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ความรับผิดชอบ
  • การร่วมมือกัน
  • ความไว้วางใจกัน
  • การบูรณาการ การคิดเป็นองค์รวม
        บริการสาธารณะเป็นกิจการที่ดำเนินการเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก การดำเนินการหากไม่ใช่รัฐเป็นผู้ดำเนินการก็อาจเป็นนิติบุคคลอื่นที่ได้รับไปดำเนินการโดยการมอบหมายให้นิติบุคคลอื่นเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะมีรูปแบบสำคัญ 4 รูปแบบ คือ
(1) สัมปทานเป็นรูปแบบที่ผู้รับสัมปทานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดให้มีบริการสาธารณะ
(2) การมอบหมายให้เอกชนบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐมอบหมายให้เอกชนรับไปดำเนินการในสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยให้เอกชนบริหารทรัพย์สินโดยได้รับค่าตอบแทน
(3) การว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้บริหารกิจการบริการสาธารณะแทนรัฐเป็นรูปแบบที่รัฐมอบหมายให้เอกชนเข้ามาจัดทำบริการสาธารณะโดยได้รับค่าตอบแทนที่กำหนดไว้ชัดเจนตายตัวและบวกกับแรงจูงใจซึ่งเป็นผลกำไรที่จะได้จากผลงานของกิจการนั้น
(4) การจ้างผู้จัดการบริหารงานแทนมีรูปแบบคล้ายกับรปแบบข้างต้น แต่ผู้บริหารจัดการจะได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายเหมือนกับลูกจ้างในฐานะผู้บริหารโครงการ
        ดังนั้น ในการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานโดยนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่รัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งรัฐก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และการจะให้นิติบุคคลใดรับไปจัดการบริการสาธารณะรัฐย่อมพิจารณาแล้วว่า นิติบุคคลนั้นต้องมีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ



 

การพัฒนาที่ยังยืน( sus taina ble  development)
โดย สถาบันนวัตกรรมวชิรจันทร์
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต

เนื่องจากทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน ต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออนาคต การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ โดยการพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนรวมหรือมหภาค คือ หากมีความจำเป็นที่จะดำเนินการให้กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ เป็นการชดเชยเพื่อให้ในแง่มหภาคของคุณภาพสิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้ดังเดิม
การพัฒนาที่ยั่งยืน: การพัฒนายุคโลกาภิวัตน์

กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกลไกการตลาด ก่อให้เกิดการเติบโต การผลิต การบริโภคที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณ ดังนั้น การที่มนุษย์ยังคงใช้แนวทางพัฒนาแบบเก่าซึ่งไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในการพัฒนา อันหมายถึง ข้อจำกัดด้านสภาพ ความสามารถที่จะรองรับการบริโภค และการใช้ประโยชน์จากโลก และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะนำมาบริโภค และใช้ประโยชน์หมดลง อีกไม่นานทุกชีวิตบนโลกจะต้องจบสิ้น เพราะมนุษย์จะไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นแนวคิดเพื่อป้องกันมิให้โลกต้องเดินไปสู่จุดจบ
มาตรการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมา นอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณแล้ว ยังพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ได้สร้างปัญหาให้กับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมหาศาล เนื่องจากรัฐบาลไม่รับผิดชอบ ไม่ฉับไวต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน ระบบราชการมีคอร์รัปชันสูง ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส ฯลฯ

นานาชาติจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวคิดที่เป็นกลางที่สุดมาเยียวยา ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ผลสรุปที่ได้คือ ทั่วโลกควรปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเสียใหม่ โดยจะต้องยกเลิกการพัฒนาซึ่งรัฐเป็นผู้ชี้นำและออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ในลักษณะ รัฐประชาชาติ (Nation State) โดยปรับเปลี่ยนเป็น ประชารัฐ (Civil State) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะที่เป็นประชาสังคม

ประชาสังคม หรือ Civil Society คือ การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความริเริ่มของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยทุกฝ่ายในสังคมต่างให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน คำว่า ประชารัฐ จึงหมายถึง รัฐซึ่งมีรัฐบาล เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในทุกเรื่องที่เป็นสาธารณะ นั่นเอง

ดังนั้น การที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จลงได้หรือไม่อย่างไรนั้น ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากที่เคยมองว่ารัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน รัฐบาลจึงสามารถควบคุมและครอบงำประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ มาเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งในระดับการร่วมรับรู้การตัดสินใจขององค์กรของรัฐ และในระดับการร่วมตัดสินใจ และจะต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจนว่าสัดส่วนของบทบาทภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการพัฒนานั้นควรจะเป็นลักษณะใด หรือที่เรียกว่า ประชารัฐนั่นเอง

และเพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถแทรกเข้าไปในทุกส่วนของสังคมโลก เมื่อเริ่มต้นทศตวรรษที่ 1980 องค์การสหประชาชาติ จึงเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาตามที่กล่าวมาข้างต้น เร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง การบริหาร การศึกษา การขจัดและลดความยากจน การส่งเสริมให้มีการบูรณาการทางการผลิต ทางการเกษตร การสร้างงาน ที่พอเพียงกับการเติบโตของประชากร การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการลดอัตราการขยายตัวของประชากร ฯลฯ โดยนำระบบการจัดการที่ดี มาใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้การพัฒนามีภาพของอนาคตที่เป็นรูปธรรม วิธีการดังกล่าวนั้นเรียกว่า ธรรมาภิบาล ธรรมรัฐ การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือ Good Governance

โดยความหมายของ Good Governance นี้ แต่เดิมธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึง ลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา
ส่วน Commission on Global Governance ได้ให้คำนิยามคำว่า “Governance” ไว้ในเอกสารชื่อ Our Global Neighbourhood ว่า หมายถึง ผลลัพธ์ของการจัดการกิจกรรม ซึ่งบุคคลและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนมีผลประโยชน์ ได้กระทำลงในหลายทิศทาง โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ ด้วยการร่วมมือกันจัดการในเรื่องนั้น

วิธีการจัดการดังกล่าว UNDP ได้นำเสนอไว้ 7 ประการ
โดยกล่าวไว้ว่า องค์ประกอบทั้ง 7 ประการต่อไปนี้ ควรถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของประเทศโลกที่ 3 ซึ่งได้แก่
1. ประชาชนจะต้องยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาล (Legitimacy) และ รัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในกิจการที่ได้กระทำลงไป (Accountability)
2. ประชาชนจะต้องมีอิสระเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และในการมีส่วนร่วม (Freedom of Association and Participation)
3. จะต้องมีกรอบแห่งกฎหมายที่ชัดเจน และเป็นระบบที่ก่อให้เกิดสภาวะที่มั่นคง เป็นหลักประกันต่อชีวิตและการทำงานของพลเมือง รวมทั้งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกร นอกจากนี้ กฎหมายจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอหน้ากัน ทั้งนี้โดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ จะต้องเปิดเผยเป็นที่รู้กันล่วงหน้า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีวิธีการที่ประกันการบังคับใช้กฎหมาย การตัดสิน ข้อขัดแย้งต้องเป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ รวมถึงจะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้ เมื่อหมดประโยชน์ ใช้สอย

4. ระบบราชการจะต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจการต่างๆ (Bureaucratic Accountability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการงบประมาณของรัฐซึ่งจะต้องมีการควบคุม ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งของรัฐและบุคลากร เพื่อป้องกันมิให้ใช้ทรัพยากรโดยมิชอบ ทั้งนี้จะต้องมีความโปร่งใส (Transparency) ในการปฏิบัติราชการทุกระดับ

5. จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ด้านรายได้ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน สภาพการจ้างงาน และดัชนีค่าครองชีพเป็นต้น

6. จะต้องมีการบริหารงานภาครับอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

7. จะต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับองค์กรของประชาสังคม ซึ่งหมายถึง องค์กรประชาชน (People's organization) และองค์กรอาสาสมัครเอกชน (NGOs)

องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมิติใหม่ของการจัดการพัฒนาโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง เป็นแนวทางที่ทุกส่วนในโลกจะต้องผนึกกำลังให้เป็นกระแสหลัก โดยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโลกทัศน์ของผู้นำทุกระดับ (ทั้งภูมิภาค ชาติ ชุมชน) ไปเป็น แบบพหุนิยมองค์รวม (Holistic Pluralism) ด้วย มิใช่เอกนิยมองค์รวม

สำหรับประเทศไทย นักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดเวทีความคิด แถลง และตีความแนวคิดเรื่องธรรมรัฐ จนกระทั่งถูกนำไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชารัฐ ได้อาศัยหลักคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเน้นสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ และระบบราชการ ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

และหากพิจารณาประกอบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 แล้ว จะพบว่า หลักธรรมรัฐได้ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการให้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มี เสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามแนวทางธรรมรัฐ (Good Governance)

จนกระทั่งสำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ลงมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ สำหรับการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง จัดทำแผน และโครงการในการปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
ซึ่ง หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ได้แก่
- หลักนิติธรรม
- หลักคุณธรรม
- หลักความโปร่งใส
- หลักการมีส่วนร่วม
- หลักความรับผิดชอบ
- และหลักความคุ้มค่า
และให้สำนักงาน ก.พ. รวบรวมและประเมินผลเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาจะต้องอยู่ในพื้นฐานหลักการที่เรียกว่า " ความยุติธรรมระหว่างคน 2 ยุค " หรือแนวคิดของ การพัฒนาที่ยั่งยืน มุมมองของมนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยน ให้เปิดกว้างยอมรับความจริงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จะติดตามมาจาก การกระทำ ของตน มนุษย์จะต้องประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ จริยศาสตร์ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นข้อกำหนด ทั่วไปขึ้นโดยเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานความรู้ทางด้านนิเวศวิทยา และระบบนิเวศสร้างความ เข้าใจถึงปฎิสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ต่อจากนั้นจึงชี้ให้เห็นถึง หลักการ ถ่ายทอดพลังงาน โดยการกินต่อกันเป็นทอดๆ และวัฏจักรของสสาร ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการทำให้สสาร และพลังงาน สามารถหมุนเวียน ในระบบนิเวศ ก็จำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดเป็นความคิดรวบยอดขึ้น ในระบบความคิดพร้อมจะนำไปเชื่อมโยงกับ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืน ประสบผลสำเร็จความหมายของ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั่วไปหมายถึง การพัฒนาเพื่อบรรลุถึงความต้องการของมนุษยชาติในปัจจุบัน (โดยเฉพาะคนยากจน) ขณะเดียวกันก็ จะต้องไม่เป็นลดทอน หรือเบียดบังโอกาศที่จะบรรลุความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย ซึ่งนักนิเวศวิทยามีความเห็นว่า มนุษย์จะต้อง ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตของตนในปัจจุบันใหม่ อย่างถอนรากถอนโคนเลิกความคิดที่เรียกว่า สภาพจิตแบบ บุกฝ่า พรหมแดน หรือ Frontier mentality เสีย ปรับเปลี่ยนวิธีคิดโลกทรรศน์ และค่านิยม
จากมองระยะสั้นไปสู่การมองระยะยาว และเน้นที่ ผลประโยชน์ของ โลกธรรมชาตเป็นเกณฑ์ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องผสมผสานแนวคิด หรือพยายามให้อยู่ในกรอบ ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยา และสังคมวิทยา เพราะการประสานหลักการทั้งสาม เข้ากับการปฏิบัติพัฒนา จะช่วยให้ แนวทางการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือมุ่งตรงไปสู่จุดหมายอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ การเขียนแนวคิด ที่นำไปสู่การพัฒนายั่งยืน ของนิเวศวิทยา แต่ละท่านอาจแตกต่างกันบ้าง ในหัวข้อปลีกย่อยแต่ประเด็นหลัก ๆ ในการเขียน ดังที่ Miller G. Tyler ได้แสดงออกมานั้นย้ำให้มนุษย์ทุกคนเห็นว่าการประสานหลักการ ทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรมสิ่งแวดล้อม และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างผสมผสาน และเป็นรูปธรรมจะทำให้มนุษย์กับ สิ่งแวดล้อมอยู่ควบคู่กันไป โดยสันติสุขสงบและยั่งยืน
ความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน
  1. ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยเคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับปัญหาความต้องการพลังงาน และเป็นสาเหตุของการทำลายสภาพแวดล้อม ในขณะที่รูปแบบการบริโภคพลังงานของคนไทยในปัจจุบัน ก็นำไปสู่ความไม่ยั่งยืน จะเห็นได้จากในภาคอีสาน การเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง เช่น การต่อต้านโครการเขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจาก ผลกระทบของโครงการทำให้จำนวน และพันธ์ปลาในแม่น้ำมูลซึ่งทำให้แหล่งอาหารที่สำคัญมากของคนในภาคอีสานใต้ลดต่ำลงอย่างมาก

    2. แม้ว่าจะมีการประสบการณ์ที่เป็นปัญหาในหลายด้าน ภาคอีสานยังคงอยู่ในสถานะที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานและรูปแบบการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ฟืนพบได้ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ควรจะได้รับการพิจารณาและศึกษาอย่างจริงจัง หากสามารถพัฒนาระบการจัดการให้มีประสิทธิภาพแล้ว แหล่งพลังงานทดแทนจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับความยั่งยืนในภาคอีสาน

แนวคิดและการปฏิบัติของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนประกอบด้วยหลัก 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
          ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาพลังงานยั่งยืน หมายถึง การสร้างผลประโยชน์จากพลังงานใหมากที่สุดโดยจะต้องรักษาทุนของสังคมไว้ (ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์) ในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเน้นการรักษาเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ทั้งทางชีวภาพ และกายภาพ จากการผลิตและการใช้พลังงาน และในแง่มุมด้านสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการลดความขัดแย้งในสังคมที่มีสาเหุตมาจาก การผลิตและการใช้พลังงาน โดยสรุปแผนพัฒนาพลังงานยั่งยืนจะครอบคลุมหัวข้อทั้งสาม โดยเน้นการสร้างผลประโยชน์จากพลังงานที่มากที่สุด โดยคงระดับทรัพยากรที่มีอยู่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรมน้อยที่สุด
          นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดทั้งสามประการของพลังงานยั่งยืน ควรจะพิจารณามุมมองห้าประการนี้ด้วย ได้แก่
1) การพัฒนาพลังงานยั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี และระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด
2) การพัฒนายั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใชัพลังงานทดแทนจากแหล่งทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งสามารถมั่นใจในแหล่งทรัพยากรและส่งผมให้เกิดการบำรุงรักษาแหล่งทรัพยากรอีกด้วย นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว การใช้พลังงานทดแทนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่า
3) การผลิตและการใช้พลังงาน ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการ จะต้องไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สังคมและวัฒนธรรม
4) ถ้าในอนาคตไม่สามารถหลีกเลี่ยงผมกระทบเหล่านี้ได้ ผู้ที่ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเนื่องจากตนเองได้รับผลประโยชน์ โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย
            มุมมองทั้ง 4 ข้อนี้ จะชลอหรือแม้กระทั่งสามารถลดอัตราการเจริญเติบโตของการผลิตพลังงาน การเปลี่ยนรูปพลังงาน เทคโนโลยีของการใช้พลังงาน แลุะการลงมือปฏิบัติที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการจ่ายค่าชดเชยจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปสู่ประชาชน ครัวเรือน ชุมชนหรือระบบนิเวศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการผลิตและการใช้พลังงาน จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ รวมถึงรักษาความเท่าเทียมกันในสังคมไทยด้วย
5) การจัดตั้งกลไลเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรมในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ที่มีสาเหตุมาจากการผลิต การเปลี่ยนรูป และการบริโภคพลังงาน



__________________________________

จาก UNDP, Public Sector Management, Governance, and Sustainable
Development (New York, 1995), ใน ประชารัฐกับการเปลี่ยนแปลง , โดย
ชัยอนันต์ สมุทวณิช (กรุงเทพมหานคร: บริษัทสุขุมและบุตร จำกัด, 2541),
น. 57-63.










ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                     ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าสถานการณ์บ้านเมืองค่อนข้างเป็นที่น่าจับตามองในสภาวะที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไปอย่างมากเข้าสู่ ระบบทุนนิยม ที่ “เงินตรา” มีความสำคัญนำหน้าจิตใจความรับรู้สิ่งที่ถูกผิด ศีลธรรม จริยธรรมถูกละเลย เป็นเรื่องรองลงมาจนบางครั้งผมเองรู้สึกว่า “เงิน” สามารถซื้อ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนหรือซื้อศักดิ์ศรีความเป็นไทย ไปแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย แทบทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าในสังคมเมืองหรือชนบท ระบบทุนนิยมได้เริ่มสร้างปัญหาสังคมต่างๆ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ความยากจน ความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนถึงปัญหาอาชญากรรมการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ประชาชนต้อง คอยติดตามและใช้วิจารณญาณ คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อของแผ่นดิน” พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทรงมองการณ์ไกลเสมือนหนึ่งเล็งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทย พระองค์ท่าน ได้พระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลานานแล้วและดูเหมือนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ถ้าแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ถูกละเลย และเป็นที่ยึดถือปฏิบัติ อยู่ในจิตสำนึกของพสกนิกรชาวไทย และที่สำคัญคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ และดูแลความสงบสุข เรียบร้อยในบ้านเมือง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาต่างๆมาใช้ในการวางแผน และดำเนินการทุกขั้นตอน และ ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และ นักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ จึงประกอบหลักการหลักวิชาการ และหลักธรรมหลายประการ อาทิ

(๑) เป็นปรัชญาแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ
(๒) เป็นปรัชญาในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง
(๓) จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
(๔) ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ สมควรต่อ การมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
(๕) จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผน และดำเนินการ ทุกขั้นตอน
(๖) จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียรมีสติปัญญาและความรอบคอบ หากจะทำให้เข้าใจง่าย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน หรือ เพื่อง่ายต่อการจดจำ และนำไปปฏิบัติ อาจเรียกว่า 3 ลักษณะ 2 เงื่อนไข ก็ได้

 องค์ประกอบด้านลักษณะ ความพอเพียงต้องประกอบด้วย 3 ลักษณะ ดังนี้
ความพอประมาณ
หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการยึดตนอยู่บนทางสายกลางก็เป็นได้
ความมีเหตุผล
หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัย
ที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึง
ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล คือการ
เตรียมพร้อมรับมือกับการแก้ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

องค์ประกอบด้าน เงื่อนไข ความพอเพียงต้องอาศัย 2 เงื่อนไข ดังนี้

เงื่อนไขความรู้
ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้น
มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม
ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
เศรษฐกิจพอเพียงกับ เกษตร ทฤษฎีใหม่ และ ประสานความมั่นคงเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง
ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา
การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการ
และแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่
ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ
ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดังนี้

ทฤษฎีใหม่แบบพื้นฐาน
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน
เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยง
จากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า
มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ
จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐาน
ของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้
ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่

ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

ทฤษฎีใหม่แบบก้าวหน้า
ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่
ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ
มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3
ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่
ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ
ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน
และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด


จากการยึด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัตินั้น คาดว่าผลที่จะได้รับจากการประยุกต์ใช้คือ
การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ความรู้และเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าหากประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ยึดถือปรัชญานี้เป็นแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน มีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ ประเทศไทยจะสงบสุข ร่มเย็นยืนหยัดอยู่ได้ด้วย
ความสามารถ ความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน

สุดท้ายนี้ผมขออัญเชิญ “พระบรมราโชวาท” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ ความว่า

การที่จะประกอบกิจการใดๆ ให้เจริญเป็นผลดีนั้น ย่อมต้องอาศัยความอุตสาหะพากเพียร และความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นรากฐานสำคัญ ประกอบกับจะต้องเป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์ ให้เกิดแก่ส่วนรวมตามโอกาสอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง : การเดินตามรอยพระยุคลบาท เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริต,
สมพร เทพสิทธา

1 ความคิดเห็น:

  1. สุดท้ายก็สำเร็จ ฉันเชื่อว่าเธอทำได้นะพิมลัดดา ^^

    ตอบลบ